มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย สิบเอก ดร.ชูศักดิ์ เพชรกระจ่าง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ออกเยี่ยมให้กำลังใจคณะครูพร้อมเจ้าหน้าที่ และดูแลความเรียบร้อยในการเปิดเรียน OnSite วันแรกของโรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งวันนี้ได้มีการตรวจคัดกรอง Antigen test kit หรือ ATK เพื่อหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3, 5, 6 และนักเรียนหญิงทุกระดับชั้น (กลุ่มที่ 1) จำนวน 257 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ในการตรวจคัดกรอง ATK จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นำโดย นางศิริเนตร เรืองหน่าย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวรอ พร้อมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบลหัวรอ มาร่วมตรวจคัดกรอง ATK ให้แก่นักเรียนทุกคนเพื่อดำเนินการตามมาตรการของทางโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวทางการปฏิบัติสำหรับนักเรียนก่อนเข้าสถานศึกษาและหอพักของโรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งแนะนำการเปิดเรียนแบบ Onsite วันแรก ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นักเรียนทุกคนผ่านการตรวจคัดกรองตั้งแต่ประตูโรงเรียน ยื่นเอกสาร แบบบันทึกการเดินทาง (Time Line) และใบแสดงการรับนักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิทุกเช้า-เย็น และไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมาพบนักเรียนช่วงนักเรียนอยู่ในโรงเรียนและสามารถนำของมาฝากได้และควรเป็นสิ่งของที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการเรียนการสอนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ นักเรียนกลุ่มที่ 1 จะเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน-30 พฤศจิกายน 2564 และจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite ส่วนนักเรียนกลุ่มที่ 2 เป็นนักเรียนชายระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2, 4 จะเข้ารับการตรวจ ATK ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 และเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และ Onsite พร้อมกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมโรงอาหารของโรงเรียน ซึ่งได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งช่วงเวลาทานอาหารของนักเรียนออกเป็น 2 ชุดๆ ละ 160 คน คือ ช่วงเวลา 11.30 น.-12.30 น. และช่วงเวลา 12.30 น.- 13.30 น. และให้นั่งทานอาหารได้โต๊ะละ 2 คน โดยมีฉากกั้น , ห้องสมุดโรงเรียน มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ, ห้องเรียน ให้นักเรียนเข้าเรียนได้เพียงห้องละ 19 คน ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด.

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรีวีรภัทร จีนด้วง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก และเสวนาในหัวข้อ “จากพิษณุโลก 2020 ถึงกฎบัตรนครพิษณุโลก ออกแบบพิษณุโลก ให้เป็นศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจ” ณ ห้องจุฬามณี สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุม และมี ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พร้อมคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้เทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับเครือข่ายกฎบัตรแห่งชาติในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะจัดงานเสวนาให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พร้อมออกแบบเมืองให้เป็นศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจ โดยได้เชิญวิทยากร 2 ท่าน ประกอบด้วย คุณฐาปนา บุญยประวัตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยและเลขานุการกฎบัตรไทย และคุณธรรมรงค์ ราชามุสิกะ กรรมการกฎบัตรไทย และวิทยากรอีกหลายท่าน ให้เกียรติมาร่วมบรรยายถึงแนวทางการขับเคลื่อนเมืองผ่านทางออนไลน์ ZOOM ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้กว่า 70 คน.
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นเพื่อสุขภาพกับ ผวจ.พิษณุโลก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย ซึ่งจัดขึ้นทุกเช้าวันอาทิตย์ของสัปดาห์ นำโดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการ ชมรมจักรยาน และผู้ที่รักการออกกำลังกายในจังหวัดพิษณุโลก โดยเริ่มออกสตาร์ทจากบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผ่านบริเวณสี่แยกแสงดาวมุ่งหน้าผ่านตำบลปากโทกและตำบลมะขามสูง ซึ่งบรรยากาศสองข้างทางยามเช้าเริ่มมีหมอกบางๆ และอากาศที่เย็นสบาย จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกมะขามสูง ผ่านตำรวจภูธรภาค 6 มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวอำเภอพรหมพิราม และเลี้ยวซ้ายผ่านบริเวณตลาดสดอำเภอพรหมพิราม ก่อนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน่านแล้วเลี้ยวขวาลัดเลาะริมแม่น้ำน่านมุ่งหน้าสู่วัดกรับพวงเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม ซึ่งปัจจุบันมี พระครูอุภัยโกศล หรือ หลวงพี่ช้าง เป็นเจ้าอาวาส โดยในวันนี้ทางวัดได้จัดงานทอดกฐินสามัคคีเพื่อนำรายได้ก่อสร้างบันไดด้านหน้าศาลาการเปรียญของกรับพรวงเหนือ ในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะได้ทำบุญตักบาตรและร่วมทอดกฐินสามัคคีกับวัดกรับพวงเหนือร่วมกับชาวบ้านในอำเภอพรหมพิรามในครั้งนี้ด้วย จากนั้นขบวนจักรยานของผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกปั่นย้อนกลับมาเส้นทางเดิม ก่อนสิ้นสุดปลายทางที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รวมระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร.
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐิน ประจำปี 2564 แก่คณะองคมนตรีไปทอดถวายยังที่ชุมนุมสงฆ์ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พระพุทธิวงศมุนี เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมี นายรณชัย จิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คณะกรรมการวัดฯ และประชาชนร่วมพิธีฯ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มจิตอาสาพระราชทานของอำเภอเมืองพิษณุโลก ที่มาคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ด้วย สำหรับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า "วัดใหญ่" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธชินราช หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” พระคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เนื่องจากพบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัย ว่าประมาณปี 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พญาลิไท แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงสร้างขึ้น ต่อมาปี 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวชมและสักการะบูชาเป็นจำนวนมาก.
หน้า 74 จาก 305