มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในพื้นที่ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล สำนักชลประทานที่ 3 ร่วมกับผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นตำบลพรหมพิราม โดยสำนักชลประทานที่ 3 ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลอง C2 จำนวน 2 เครื่อง เพื่อผันน้ำจากคลองส่งน้ำ C1 ไปยังพื้นที่หมู่ที่ 9, 10 ตำบลพรหมพิราม ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่จำนวนหลายพันไร่ จากนั้นเดินทางไปติดตามการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลอง C10 พื้นที่หมู่ 4 ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม เชื่อมต่อกับพื้นที่ตำบลไผ่ขอดอน อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองส่งน้ำ C1 ร่วมกับ นายประเชิญ สุขเกษม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขอดอน, นายสมาน นวนเกิด กำนันตำบลไผ่ขอดอน, นายสมชาย เรือนก้อน กำนันตำบลมะตูม พร้อมผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่ โดยวันนี้เจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล สำนักชลประทานที่ 3 ได้มาดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว และ 16 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง สูบผันน้ำไปให้เกษตรกรในพื้นที่ของทั้งสองอำเภอที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่ใกล้เคียงกับคลองส่งน้ำ C10 ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำรวมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ท่ามกลางความพึงพอใจของผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก.
วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อพิจารณาโครงการที่คณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับอำเภอเสนอต่อคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนและจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนก่อนที่จะบรรจุโครงการในแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตามกรอบอำนาจ หน้าที่ สถานะการเงิน การคลัง และทุกโครงการมาจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่พื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก โดยบูรณาการร่วมกันขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก.
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมประชุมการควบคุมโรคระบาดสัตว์ “ลัมปี สกิน” จังหวัดพิษณุโลก ณ ห้องประชุมธรรมาภิบาล ชั้น 2ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุม และมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม หลังตรวจพบมีการแพร่ระบาดของโรค “ลัมปี สกิน” ในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อ.นครไทย, อ.ชาติตระการ, อ.วังทอง, อ.วัดโบสถ์ และ อ.บางระกำ รวมพื้นที่ 19 ตำบล 106 หมู่บ้าน เกษตรกรจำนวน 449 ราย โดยพบว่ามีสัตว์ป่วยยอดสะสมจำนวน 1,452 ตัว หายป่วยสะสม 47 ตัว และสัตว์ตายสะสมจำนวน 26 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564) พร้อมทั้งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการในการป้องกันโรค สอบสวนหาสาเหตุของโรค ตั้งด่านตรวจและห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและปฏิบัติ ทั้งนี้สำหรับในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก มีแผนดำเนินการฉีดวัคซีนให้โค-กระบือ ในพื้นที่ 10 ตำบล ของอำเภอวังทอง จำนวน 4,400 โด๊ส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว.

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมลงพื้นที่ออกตรวจเยี่ยมติดตามและประเมินความพร้อมการเปิดเรียนของสถานศึกษาที่เปิดเรียนในวันแรก ณ โรงเรียนวิทยาศาสตรจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก นำโดย นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าคณะฯ พร้อมด้วย นายรัฐภูมิ ชามพูนท รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกและคณะ มีนายสุริยา จันทิมา ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตรจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ให้การต้อนรับ สำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก มีนักเรียนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เข้าเรียนและทางโรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอน เป็นแบบ On Site 100 % มีนักเรียนอยู่ประจำ 720 คน โรงเรียนได้มีการเข้มงวดเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องมีใบที่รับรองการตรวจคัดกรองจากสถานพยาบาลว่าไม่เป็นผู้มีเชื้อโควิด 19 อย่างแน่นอน อีกทั้งการเข้าพักอาศัยในหอพักของนักเรียนต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบและตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด ซึ่งการตรวจเยี่ยมติดตามและประเมินความพร้อมการเปิดเรียนของสถานศึกษาที่เปิดเรียนในวันแรกในวันนี้แบ่งการตรวจออกเป็น 5 สาย มี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ออกตรวจที่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี และมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และปลัดจังหวัดฯ เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก ออกตรวจเยี่ยมตามโรงเรียนที่กำหนด อีก 4 แห่ง คือ โรงเรียนวิทยาศาสตรจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก โรงเรียนจ่านกร้อง โรงเรียนจ่าการบุญ และโรงเรียนอนุบาลโรจนวิทย์ ทั้งนี้โรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอนผ่านมาตรฐานการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus ซึ่งขณะนี้มี จำนวน 324 แห่ง เปิดทำการเรียนการสอนแบบ on site หรือ พื้นที่การเรียนการสอนทีปลอดภัย

หน้า 115 จาก 305