มาโนช บุญยัง
วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำซำตะเคียน หมู่ที่ 9 บ้านซำตะเคียน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอวังทอง นายเสน่ห์ พลรบ กำนันตำบลวังนกแอ่น และนายประโยชน์ ดอนคำไพร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านซำตะเคียน เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ชาวบ้านซำตะเคียนกว่า 270 ครัวเรือน ประชากรกว่า 1,390 คน ได้ใช้อุปโภคบริโภค รวมทั้งเพื่อใช้ทำการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ช่วยประสานกับสำนักงานชลประทานจังหวัดพิษณุโลกให้ดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ มีพื้นที่กว่า 120 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขาและใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของบ้านซำตะเคียน
ส่วนความคืบหน้าในขณะนี้พบว่าทางกรมชลประทาน โครงการชลประทานพิษณุโลก ได้ว่างจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำซำตะเคียน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ และสามารถใช้กักเก็บน้ำฝนที่ไหลมาจากเทือกเขาได้กว่า 370,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่บ้านซำตะเคียน วัด โรงเรียน รวมถึงพื้นที่การเกษตรบางส่วน และที่สำคัญสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย.
วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายวิเชียร ภักดี รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมรถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร จำนวน 3 คัน ออกแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียนบ้านซำตะเคียน หมู่ที่ 9 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 2 ที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ร่วมกับ นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอวังทอง พร้อมด้วย นายเสน่ห์ พลรบ กำนันตำบลวังนกแอ่น และนายประโยชน์ ดอนคำไพร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านซำตะเคียน ภายหลังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับการร้องขอจากทางโรงเรียนบ้านซำตะเคียน โดย นางสาวนงเยาว์ จันทะคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำตะเคียน เนื่องจากพบว่าโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกลและแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านซำตะเคียนเกิดแห้งขอดและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขุดลอก ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของครูและนักเรียน ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียน 188 คน และครู 16 คน ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคภายในโรงเรียนเป็นอย่างมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้นำน้ำอุปโภคบริโภคเติมน้ำใส่แท้งค์น้ำประปาของโรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 72,000 ลิตร เพื่อให้ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือไปจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ท่ามกลางความพึงพอใจของครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ได้ร่วมพบปะกับคณะครูและนักเรียนโดยเน้นย้ำเรื่องมาตรการในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่นักเรียนด้วย.
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นำสิ่งของพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่งไปมอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบอัคคีภัยในพื้นที่ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย นางนพมาศ เผือกสีสุข บ้านเลขที่112/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก และนางรำเพย ยังเรือง บ้านเลขที่ 115/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยพบว่าบ้านต้นเพลิงเกิดขึ้นที่บ้านของ นางนพมาศ ซึ่งเป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ทำให้เปลวเพลิงได้ลุกไหม้อย่างรวดเร็วจนได้รับความเสียหายทั้งหลัง ก่อนจะลุกลามไหม้บ้านของ นางรำเพย ที่อยู่ติดกันจนได้รับความเสียหายบางส่วน ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 ซึ่งหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านป่า ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยขึ้น พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือขอสนับสนุนรถแบคโฮและรถบรรทุกพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อช่วยทำความสะอาดขนย้ายซากปรักหักพังของบ้านเรือนราษฎรที่ประสบภัยในครั้งนี้ และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก ได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของต่างๆ มามอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยทั้งสองรายด้วย.
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายชิตพล มั่นปาน นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นำเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลเข้าดำเนินการขุดลอกกำจัดวัชพืชที่บริเวณคลองธรรมชาติ หมู่ที่ 10 บ้านคลองตาล และบริเวณสายเลียบคลองน้ำขุ่น หมู่ที่ 2, 8 ตำบลหนองแขม อำเภอพรหมพิราม โดยการประสานของ นายศิริโภชน์ ธเนศราภา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอพรหมพิราม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับ นายศรัณย์ ศรีภิรมย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม นายสุพจน์ หวาเกตุ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม นายอนุวัฒน์ อุ้ยเจริญ กำนันตำบลหนองแขม และนายพิพัฒน์พงษ์ ทองสุก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านคลองตาล ภายหลังได้รับการร้องขอจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำเครื่องจักรกลมาช่วยดำเนินการขุดลอกกำจัดวัชพืชเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม เป็นผู้สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดำเนินงานขุดลอกกำจัดวัชพืชในครั้งนี้
ซึ่งพบว่าปัจจุบันคลองดังกล่าวมีผักตบชวาและวัชพืชขึ้นกีดขวางทางน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำไหลหลากจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทันส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสียหาย โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้นำรถแบ็คโฮคอยาวดำเนินการขุดลอกกำจัดวัชพืชภายในคลองดังกล่าวออกทั้งหมดพร้อมตบแต่งให้เรียบร้อย ซึ่งคลองธรรมชาติหมู่ที่ 10 บ้านคลองตาล มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 1,250 เมตร และความลึก 2.50 เมตร และบริเวณสายเลียบคลองน้ำขุ่น หมู่ที่ 2, 8 มีความกว้าง 10.50 เมตร ยาว 3,350 เมตร และความลึก 3 เมตร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเปิดเส้นทางระบายน้ำให้ไหลได้สะดวกเพิ่มมากขึ้น ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังไร่นาของประชาชน และใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 2,000 ไร่ ท่ามกลางความความพึงพอใจของผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นเป็นอย่างมาก.