มาโนช บุญยัง
วันที่ 23 มกราคม 2563 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายอาวุธ ยวนแห่ว เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอน้ำในโครงการ “รวมพลคนสร้างฝายชะลอน้ำ” เฉลิมพระเกียรติ ปีงบประมาณ 2563 ของกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบง หมู่ที่ 5 บ้านโนนมะค่า ตำบลยางโกลน อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ โดยมีผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น จิตอาสา และประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านยางโกลน และหมู่ที่ 5 บ้านโนนมะค่า ตำบลยางโกลน อำเภอนครไทย ที่ต่างพร้อมใจมาช่วยกันบรรจุทรายใส่กระสอบก่อนบรรทุกขึ้นรถไถนานำไปกั้นเป็นฝายชะลอน้ำชั่วคราวที่บริเวณทางน้ำล้น หรือ สปิลเวย์ ของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบงเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับไว้ใช้ผลิตน้ำประปาภูเขาเพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงราษฎรทั้งสองหมู่บ้านกว่า 500 หลังคาเรือนได้ใช้อุปโภคบริโภค สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบงแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณร่องเขาโดยรับปริมาณน้ำจากเทือกเขาภูขัด ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย โดยทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลกได้มาดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดังกล่าวตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ตำบลยางโกลนสำหรับกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค โดยราษฎรทั้งสองหมู่บ้านได้นำน้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมาใช้ผลิตเป็นประปาภูเขาใช้อุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้าน ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอน้ำดังกล่าวนี้แล้วเสร็จก็จะสามารถใช้กักเก็บน้ำไว้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของราษฏรตลอดฤดูแล้งนี้ สำหรับโครงการ “รวมพลคนสร้างฝายชะลอน้ำ” เฉลิมพระเกียรติ ปีงบประมาณ 2563 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ห้วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2562 จำนวน 13 รุ่น ในพื้นที่ตำบลนครชุมและตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย และห้วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 8 รุ่น ในพื้นที่ตำบลนครไทย, ตำบลนาบัว, ตำบลยางโกลน อำเภอนครไทย และในพื้นที่ตำบลชาติตระการ, ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นฝายชะลอน้ำทั้งฝายชั่วคราวและฝายกึ่งถาวร เพื่อต้องการปลูกฝังให้นักเรียน เยาวชนและประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในการสร้างฝายชะลอน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเข้าใจถึงขั้นตอนการสร้างฝายชะลอน้ำในรูแบบต่างๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป.