มาโนช บุญยัง
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ว่าที่ร้อยตรี วีรภัทร จีนด้วง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมพิธีมอบทุนการศึกษามูลนิธิจ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ ครั้งที่ 37 ปีการศึกษา 2562 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมกันนี้ร่วมมอบเงินสมทบเข้ามูลนิธิฯ จำนวน 2,000 บาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน โดยในปีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้มอบทุนการศึกษาทุน การศึกษาให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งสิ้นจำนวน 50 ทุน
ทั้งนี้สำหรับมูลนิธิจ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ กำเนิดจากฝ่ายแนะแนวและทุนการศึกษาโรงเรียนพิษณุโลกศึกษา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ ครั้งนั้นปีพุทธศักราช 2524 ฝ่ายแนะแนวได้เรียนเชิญจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ มาเป็นวิทยากรในงานปัจฉิมนิเทศแก่นักเรียนที่จบการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อหรือแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ เป็นคนไทยตัวอย่าง กำเนิดมาจากครอบครัวที่มีความยากจน แต่ดำรงตนด้วยความมานะพยายาม มีความซื้อสัตย์สุจริต มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ยึดมั่นในศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม รวมไปถึงมีจิตศรัทธาในการสร้างสาธารณกุศล สาธารณะประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาตินานัปการ เมื่อทราบว่าโรงเรียนพิษณุโลกศึกษา มาจากครอบครัวที่ยากจน บางคนไม่มีอาหารกลางวัน ไม่มีอุปกรณ์การเรียนและยังติดค้างค่าบำรุงการศึกษา จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ จึงได้ปวารณาตัวที่จะมอบทุนการศึกษาทุนละ 600 บาท แก่นักเรียน ม.ต้น และ 800 บาท แก่นักเรียน ม.ปลาย รวม 50 ทุน ทุกๆ ปีตลอดไปจนถึงปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายแนะแนวและทุนการศึกษาจึงได้เสนอให้จัดตั้งมูลนิธิเป็นการถาวร โดยไม่มีการถอนเงินต้น แต่จะนำดอกผลมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทั่วจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์จากมูลนิธิฯ เกิดสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิจ่าสิบเอก ทวี –พิมพ์ บูรณเขตต์” .
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 นางสาวกมลชนก เหลืองทองนารา เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเปิดการประชุมโครงการปรับและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พ.ศ.2559-2564 (ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)” ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี อาคารทีปวิชญ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสุรชัย มณีปกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี และมีผู้มีส่วนร่วมจากหัวหน้าส่วนราชการของหน่วยงานต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลนคร ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฯ เป็นต้น ตลอดจนอาจารย์อาวุโส สมาคมศิษย์เก่า คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 250 คน เข้าร่วม
ทั้งนี้สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้ร่วมกันน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษามาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่สอดคล้องกับพันธกิจในการจัดตั้งมหาวิยาลัยเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัด ที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและพัฒนาท้องถิ่นตามสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี ให้อยู่บนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจร่วมกันและตรงตามเจตนารมณ์ของแผนยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และบริบทของมหาวิทยาลัย จึงจัดให้มีการปรับและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พ.ศ.2559-2564 (ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563) ขึ้น เพื่อประชุมหารือระดมความคิดเห็นในการปรับและทบทวนแผนของมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามให้มีความสอดคล้องกัน โดยในปีงบประมาณ 2562 เป็นปีแรกที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง โดยมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามโครงการร่วมของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบท 2.โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 3.โครงการส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น 4.โครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียน และ 5.โครงการพัฒนาความรู้ทักษะภาษาอังกฤษ ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีโครงการที่ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 129 โครงการ มีผลการดำเนินงานที่ได้ตอบสนองต่อชุมชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง.
วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 นางสาวกมลชนก เหลืองทองนารา เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายรักเร่ สายอรุณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอเนินมะปราง ร่วมเป็นเกียรติในการประเมินคัดเลือกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่น ระดับภาคเหนือ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายหิน สิทธิกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ประธานคณะกรรมการการประกวดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลดีเด่น ระดับภาคเหนือ เป็นประธานในการประเมินฯ ทั้งนี้สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไทรย้อย ในฐานะตำแหน่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่นระดับจังหวัด จังหวัดพิษณุโลก ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดพิษณุโลกเข้ารับการประเมินคัดเลือกในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีความพร้อมทั้งโครงสร้างและการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านใกล้ใจให้บริการแก่พี่น้องประชาชนชาวตำบลไทรย้อยและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดบริการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจึงทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไทรย้อยได้รับการคัดเลือกเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่นของเขตสุขภาพที่ 2 ในการเข้ารับการประกวดระดับภาคครั้งนี้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และพี่น้อง อสม.แกนนำสุขภาพและชาวตำบลไทรย้อย ร่วมให้การต้อนรับ
วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุมสุพรรณกัลยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุมหารือการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ฯ เพื่อจัดแสดงในโครงการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์บ้าน 2 หลัง ภายในบริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์ โดยมี พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก, ผศ.ดร.วัชรินทร์ จินต์วุฒิ ที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำข้อมูลจัดแสดงภายในอาคารโครงการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์บ้าน 2 หลัง, เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย, คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินการจัดทำข้อมูลจัดแสดงภายในอาคารโครงการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์บ้าน 2 หลัง พร้อมทั้งเตรียมเสนอไปยังกรมศิลปากรเพื่ออนุมัติดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ส่งมอบการถ่ายโอนภารกิจการดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานพระราชวังจันทน์และการบริหารจัดการศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารอนุรักษ์ จำนวน 2 หลัง ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุเก่าแก่กว่า 117 ปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จึงมีแผนดำเนินการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์บ้าน 2 หลัง ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปทางด้านประวัติศาสตร์เพื่อเป็นส่วนเสริมจากอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ซึ่งเป็นส่วนนิทรรศการหลัก โดยเรือนไม้หลังที่ 1 จะทำเป็นส่วนแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองพิษณุโลก ได้แก่ ห้องที่ 1 พิษณุโลก เมือง 8 นาม ห้องที่ 2 พิษณุโลก ดินแดนประวัติศาสตร์ ห้องที่ 3 นครสรลวงสองแฅว ห้องที่ 4 พิษณุโลก ชัยนาท-โอฆะบุรี และห้องที่ 5 พระพิมพ์เมืองพิษณุโลก และเรือนไม้หลังที่ 2 เป็นส่วนจัดแสดงข้อมูลพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีที่มีต่อจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 .