มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ว่าที่ร้อยตรีอิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมพิธีปล่อยคาราวานรถ Mobile จำหน่ายสินค้า “โครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา ! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” จังหวัดพิษณุโลก ณ บริเวณตลาดสดเทศบาล 1 กิติกร (ตลาดใต้) อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมืองพิษณุโลก นางอุบลรัตน์ ศิลตระกูล พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี ทั้งนี้ด้วยจังหวัดพิษณุโลก มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินโครงการรถ Mobite พาณิชย์...ลดราคา ! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการบริโภคเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่คลี่คลาย โดยนำสินค้าราคาประหยัดที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย เป็นต้น ไปจำหน่ายให้ประชาชนในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ร้อยละ 10-40 ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกได้รับการจัดสรรให้จัดหารถ Mobile เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6 คัน มีระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน โดยจะเริ่มจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 21 สิงหาคม 2564 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับตำบลทั้ง 93 ตำบลในจังหวัดพิษณุโลก

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ว่าที่ร้อยตรีอิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายสำรวย ศรีโห้มี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอเมืองพิษณุโลก นายชมภู จันทร์เชื้อ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นำเครื่องจักรเข้าดำเนินการขุดลอกคลองตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ คลองสะอาด ปราศจากวัชพืช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ณ คลองโคกช้าง (บริเวณหนองตาเหงี่ยม) หมู่ที่ 5 ตำบลอรัญญิก เชื่อมต่อกับตำบลหัวรอ และตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมกับ นายศุภกร แพฎิษฐ์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองอรัญญิก หลังได้รับการร้องขอจากเทศบาลเมืองอรัญญิก เนื่องจากไม่มีเครื่องจักรกลหนักดำเนินการขุดลอกคลองดังกล่าวที่มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่รวม 28.12 ไร่ ปัจจุบันมีผักตบชวาและวัชพืชขึ้นปกคลุมจำนวนมากจนไม่สามารถระบายน้ำได้ เบื้องต้นวันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำรถแบคโฮคอยาวขุดลอกผักตบชวาที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นภายในคลองออกทั้งหมด เพื่อช่วยเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกเพิ่มมากขึ้นป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงน้ำไหลหลาก รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรให้แก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง และพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนนำผักตบชวาและวัชพืชมาใช้ประโยชน์ เช่น เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก เครื่องจักรสาน หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ท่ามกล่างความพึงพอใจของราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก.

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเครื่องจักรกล กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการขุดลอกคลองขอนแดง หมู่ที่ 9 บ้านเนินตาเกิด ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ ตามโครงการขุดลอก คูคลอง หนองบึง สระน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะ ภายในเขตอำเภอวัดโบสถ์ มีความยาว 1,700 เมตร ซึ่งพบว่าคลองขอนแดงแห่งนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจากเขาน้อย-เขาประดู่ ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้นปกคลุมอยู่จำนวนมาก หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำไหลหลากได้สะดวกเพิ่มมากขึ้นและใช้กักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้ใช้ประโยชน์ 500-600 ไร่ ส่วนบริเวณคันคลองได้ปรับเกรดให้เรียบร้อยเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งพืชผลทางการเกษตรกรแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ตำบลบ้านยาง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายเครื่องจักรกล กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าดำเนินการขุดลอกคูคลองแห้ง-วังหวาย หมู่ที่ 6 บ้านไผ่ขอดอน ตำบลไผ่ขอดอน อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันคลองแห่งนี้มีสภาพตื้นเขินและมีผักตบชวาขึ้นปกคลุมจำนวนมาก มีความยาว 1,200 เมตร หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรในพื้นที่หมู่ที่ตำบลไผ่ขอดอน กว่า 700 หลังคาเรือน ประชากร 2,000 คน ได้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรรวมพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำไหลหลากเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร.
วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายอำนวย ตาวงค์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการมอบความรับผิดชอบในการดูแลศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ห้องประชุมพระพุทธชินสีห์ (ชั้น 3) ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (อาคารหลังเดิม) โดยมี นายสุริยา เสนานุช จ่าจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นายณฐพงษ์ วงศ์สง่า ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนจากเทศบาลนครพิษณุโลก กรมธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งมอบความรับผิดชอบในการดูแลศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลกให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล สำหรับศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2538 จังหวัดพิษณุโลก ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ เพื่อดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองประจำจังหวัดในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ พล.375 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ประมาณ 3-3-27.5 ไร่ โดยสร้างเป็นแบบยอดปรางค์ ขนาดสูง 10.65 เมตร ฐานกว้าง 16.60 เมตร ตั้งอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลกและได้รับเมตตาจาก หลวงปู่โง่น โสรโย เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขาลวก จังหวัดพิจิตร จัดสร้างเสาหลักเมืองตามแบบกรมศิลปากร ขนาดสูง 3.29 เมตร โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นลำต้นถึงลูกฟักทำจากไม้ราชพฤกษ์ ส่วนที่เป็นท่อนลูกแก้วทำจากไม้ชิงชันและส่วนยอดบัวตูม ทำจากไม้สักทอง เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณี เป็นหลักชัย หลักใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวพิษณุโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมบริจาคเป็นทุนในการก่อสร้างจนสำเร็จ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระสุหร่ายทรงเจิมยอดเสาหลักเมือง พร้อมแผ่นทองดวงเมือง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2539 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และประกอบพิธีบรรจุยอดเสาหลักเมืองและแผ่นทองดวงเมือง สวมบนเสาหลักเมือง เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2539 และต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน 2540 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นเป็นต้นมาจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ประกอบพิธีบวงสรวงสมโภชศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลกขึ้นในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามและความเป็นสิริมงคลของชาวพิษณุโลก.
หน้า 105 จาก 305