มาโนช บุญยัง
วันที่ 29 เมษายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายอิฐเรศ รำพึงดี นายช่างเครื่องกลอาวุโส กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลที่บริเวณวัดเชิงเขาวนาราม ที่หมู่ 5 บ้านทับยายเชียง ตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเมื่อวานนี้ (28 เมษายน 2564) นายศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ลงมาติดตามความคืบหน้าไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยในวันนี้มี นายวิโรจน์ แจงทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับยายเชียง, นายภาคภูมิ หงอสนาม กำนันตำบลทับยายเชียง และเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลทับยายเชียง ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งในการดำเนินการครั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้มีน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลที่ระดับความลึก 48 เมตร ได้ปริมาณน้ำ 8,000 ลิตร ต่อชั่วโมง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอสำหรับให้พระภิกษุสามเณร รวมถึงราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 200 หลังคาเรือน ได้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี สำหรับการดำเนินการขุดเจาะบาดาลในครั้งนี้นับเป็นบ่อที่ 6 ของโครงการน้ำสะอาดสู่ประชาชนเพื่อท้องถิ่นไทย ในจังหวัดพิษณุโลก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จากจำนวนทั้งสิ้น 20 บ่อ นอกจากนี้ยังได้สำรวจพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านศรีเจริญ ตำบลทับยายเชียง เพื่อเตรียมดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลตามโครงการฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรอาศัยอยู่กว่า 300 หลังคาเรือน กำลังขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากประปาหมู่บ้านเดิมที่มีอยู่นั้นมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งได้สำรวจพื้นที่หมู่ 4 บ้านหนองมะคัง ตำบลทับยายเชียง ที่ทางผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นได้เสนอให้ดำเนินขุดเจาะบ่อบาดาลบริเวณที่ดินสาธารณะของหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร 400-500 หลังคาเรือน ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เบื้องต้นได้แนะนำให้ทางเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลทับยายเชียง นำเรื่องดังกล่าวเข้าแผนฯ แล้วทำหนังสือร้องขอสนับสนุนมาให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลต่อไป.
วันที่ 28 เมษายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย จ่าเอกธีระศักดิ์ ดวงเงิน นายช่างชำนาญงาน และเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบสะพานสลิงข้ามแม่น้ำเข็ก หมู่ที่ 1 บ้านวังดินสอ ตำบลวังนกแอ่น - หมู่ที่ 4,9 ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความพร้อมใช้งานและสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชน ร่วมกับ นายบุญเหลือ บารมี นายอำเภอวังทอง นายเฉลิม แก้วเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลวังนกแอ่น และประชาชนในพื้นที่ พบว่าบริเวณพื้นสะพานและเสาราวสะพานชำรุดบางส่วนเกรงว่าจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อราษฎรในพื้นที่ตำบลชัยนาม ตำบลวังนกแอ่น ตำบลแก่งโสภา และตำบลดินทอง อำเภอวังทอง ที่ใช้สะพานสลิงดังกล่าวสัญจรไปมา เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่กองช่าง ดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงซ่อมแซมสะพานสลิงแห่งนี้โดยเร่งด่วน พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้สะพานสลิงดังกล่าวห้ามนำรถบรรทุกเพื่อการเกษตร รถไถนา รถอีแต๋นสัญจรข้ามสะพานสลิงดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าสะพานจะชำรุดเพิ่มมากขึ้นและจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบสะพานคลองห้วยซึ้ง หมู่ที่ 1 ตำบลวังนกแอ่น เชื่อมต่อกับตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง ซึ่งในในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2545 พบว่าพื้นสะพานคอนกรีตชำรุดและมีต้นไม้ขนาดใหญ่และวัชพืชขึ้นกีดขวางทางน้ำจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้ประชาชนโดยเร่งด่วนต่อไป.
วันที่ 26 เมษายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย จ่าเอกธีระศักดิ์ ดวงเงิน นายช่างชำนาญงาน และเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบสะพานสลิงข้ามแม่น้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้สะพานสลิงสัญจรไปมาได้ โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจำนวน 3 จุด คือ จุดที่ 1 สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่านหน้าวัดจอมทอง (วัดเก่า) หมู่ที่ 5 บ้านจอมทอง - หมู่ที่ 9 ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมกับ นายกัณธณพงศ์ กัญจน์ธนะโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง และเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบว่าสะพานสลิงชำรุดหรือมีความพร้อมใช้งานหรือไม่เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 10 ปี และมีประชาชนใช้สัญจรจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่าบริเวณพื้นสะพานชำรุดเกรงว่าจะเป็นอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้สะพานสลิงสัญจรไปมาได้, จุดที่ 2 สะพานสลิงข้ามแม่น่านบริเวณหมู่ที่ 9 บ้านวังมะด่าน - หมู่ 11 บ้านย่านยาว ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม ร่วมกับ นายทองรวม ศรีภิรมย์รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวงฆ้อง พบว่าบริเวณพื้นสะพานบริเวณทางขึ้นลงทั้งสองด้านชำรุดบางส่วนและสายสลิงยึดสะพานหย่อน และจุดที่ 3 สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่านบริเวณหน้าวัดหล่ม หมู่ที่ 5 - หมู่ที่ 6 ตำบลวัดพริก เชื่อมต่อกับตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมกับ นายกฤชชัย ประยูรคำ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดพริก พบว่าพื้นสะพานชำรุดเล็กน้อย เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เร่งดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงซ่อมแซมสะพานสลิงที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกทุกแห่งให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัยโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนที่สัญจรผ่านสะพานสลิงดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับสะพานสลิงที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มีจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง คือ 1. สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่าน หมู่ 9 – หมู่ 11 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม (กว้าง 2.35 เมตร ยาว 160 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2550) 2.สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่าน หมู่ที่ 1 - หมู่ที่ 2 ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม (กว้าง 2.35 เมตร ยาว 160 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2550) 3. สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่านหน้าวัดหล่ม หมู่ที่ 5 - หมู่ที่ 6 ตำบลวัดพริก เชื่อมต่อตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก (กว้าง 2.35 เมตร ยาว 160 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2550) 4. สะพานสลิงข้ามแม่น้ำเข็ก หมู่ที่ 4 ตำบลชัยนาม–หมู่ที่ 1 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง (กว้าง 2.35 เมตร ยาว 100 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2551) 5.สะพานสลิงข้ามแม่น้ำน่าน หมู่ที่ 5 – หมู่ที่ 7-9 ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก (กว้าง 2.35 เมตร ยาว 146.5 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2549)