มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 26 มกราคม 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมกล่าวต้อนรับคณะผู้จัดการประกวดและผู้เข้าร่วมการประกวดโครงการประกวดการทำอาหาร Street Food สร้างอาชีพ ระดับภาค “สร้างงานสร้างอาชีพ คืนคนดีสู่สังคม” ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยมี นายบุญเหลือ บารมี ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี และมี นายนพนันต์ ทับทิม ประธานอาสาสมัครคุมประพฤติภาค 6 กล่าวรายงาน ทั้งนี้กรมคุมประพฤติ มีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดได้มีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยการฝึกอาชีพส่งเสริมให้มีงานทำและมอบทุนประกอบอาชีพ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของอาสาสมัครคุมประพฤติให้เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการคืนคนดีสู่สังคมอย่างครบวงจร ประกอบกับเพื่อให้ผู้กระทำผิดที่ชนะการประกวดการทำอาหารระดับจังหวัดได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือด้านการทำอาหารและเพื่อแสดงถึงพลังในการให้ความร่วมมือของอาสาสมัครคุมประพฤติ ตลอดจนภาคีเครือข่ายในการคืนคนดีสู่สังคม จึงได้ดำเนินการจัดงานประกวดการทำอาหาร Street Food สร้างอาชีพ ระดับภาคขึ้น โดยกิจกรรมในช่วงเช้ามีการจัดโครงการอบรมวิชาชีพตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณอำนาจ คำนำ เชฟจากสมาคมเชฟประเทศไทย เป็นวิทยากร ส่วนในภาคบ่ายมีการประกวดการทำอาหารในระดับภาค ซึ่งมีผู้ถูกคุมประพฤติในคดีต่างๆ ที่ชนะเลิศการประกวดการทำอาหารจาก 9 จังหวัด เข้าร่วมประกวด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์, กำแพงเพชร, สุโขทัย, ตาก, พิจิตร, อุทัยธานี, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมการประกวด ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศการประกวดการทำอาหาร Street Food สร้างอาชีพ ระดับภาคในครั้งนี้จะได้ไปเข้าร่วมการประกวดในระดับประเทศต่อไป สำหรับในการจัดการประกวดครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคุมประพฤติในเขตภาค 6, อาสาสมัครคุมประพฤติภาค 6 , หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหาร, สถานประกอบการ, ภาคเอกชน, วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก และสมาคมเชฟประเทศไทย ให้การสนับสนุนวิทยากร และอาสาสมัครคุมประพฤติในสังกัดภาค 6 ได้ให้การสนับสนุนในการจัดประกวดครั้งนี้.
วันที่ 26 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ฝ่ายก่อสร้างและซ่อมบำรุง กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก โดย นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้นำเครื่องจักรกลเข้าดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงผิวจราจรถนนลาดยางสายบึงพร้าว-ห้วยซึ้ง หมู่ที่ 7 บ้านเนินคลี ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ภายหลังได้รับการร้องขอจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลชัยนาม เพื่อขอให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงถนนลาดยางสายดังกล่าว เนื่องจากพบว่าผิวจราจรเสียหายและทรุดตัวเป็นหลุมเป็นบ่อสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ใช้ถนนสายดังกล่าวสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านและเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กองช่าง ได้ดำเนินการขุดรื้อผิวจราจรลาดยางและบดอัดให้แน่น พร้อมทั้งทำผิวลาดยาง ระยะทางยาว 800 เมตร และปะซ่อมหลุมบ่อระยะทางยาว 1,500 เมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ประชาชนและสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านได้อย่างสะดวกปลอดภัย รวมถึงใช้ขนส่งพืชผลทางการเกษตรกรไปจำหน่ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก.
วันที่ 24 มกราคม 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำเครื่องจักรกลเข้าปรับภูมิทัศน์ภายในวัดกระบังมังคลาราม หมู่ 2 บ้านกระบัง ตำบลหอกลอง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ เจ้าอธิการวีระชัย อธิปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดกระบังมังคลาราม และนายสมศักดิ์ พุ่มมี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 เพื่อร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งนี้สำหรับวัดดังกล่าวมีพื้นที่ 40 ไร่เศษ ปัจจุบันบริเวณพื้นที่ว่างป่าวด้านข้างวัดมีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นและพื้นมีสภาพสูงต่ำไม่สม่ำเสมอกันเมื่อเกิดฝนตกหนักทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังภายในวัดและโรงเรียนวัดกระบังมังคลาราม (พิศาลประชาสรรค์) สร้างความเดือดร้อนให้แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรของวัดดังกล่าว รวมถึงครูและนักเรียนของโรงเรียนโรงเรียนวัดกระบังมังคลาราม (พิศาลประชาสรรค์) เป็นอย่างมาก โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำรถเกรดเดอร์เข้าเคลียร์พื้นที่ดันต้นไม้ขนาดเล็กและวัชพืชออก พร้อมทั้งปรับเกรดพื้นที่ทั้งหมดให้สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแควน้อยได้สะดวกเพิ่มมากขึ้นหากเกิดฝนตกหนักและให้สวยงาม รวมทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดกิจกรรมทางศาสนาได้อีกด้วย.

วันที่ 22 มกราคม 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ร่วมพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง และมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธีเปิดศูนย์ฯ พร้อมทั้งมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และเจิมอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ทั้งนี้สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสืบสานศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานในการช่วยเหลือประชาชน โดยรับผิดชอบดูแลช่วยเหลือผู้ขอรับบริการน้ำฝนจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก มีภารกิจช่วยเติมน้ำต้นทุนเข้าเขื่อนกักเก็บน้ำ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 25 แห่ง เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง บรรเทาภัยพิบัติด้วยการปฏิบัติการหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย เป็นการตอบสนองประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันเวลารวมทั้งสนับสนุนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นมีเพียงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว รับผิดชอบในพื้นที่ถึง 15 จังหวัด ทำให้ขาดความคล่องตัวไม่สามารถทันเวลาเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติพร้อมกันหลายจังหวัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่ง จากผลการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 ตุลาคม 2564 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีการขึ้นบินปฏิบัติการฯ รวม 153 วัน 417 เที่ยวบิน ทำให้มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง คิดเป็นร้อยละ 95.4 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 28 ล้านไร่ รวมถึงทำให้มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 27 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 11.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ มีการขึ้นบินปฏิบัติการฯ รวม 25 วัน (ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม - 21 พฤษภาคม 2564) 27 เที่ยวบิน ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด.

หน้า 57 จาก 305