มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมให้การต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวและนักเดินทางไมซ์ พร้อมทั้งร่วมรับประทานอาหารค่ำภายใต้กิจกรรม Domestic MICE Fam Trip 2021 จังหวัดพิษณุโลก ณ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน นางสุวิมล เกตุศรีบุรินท์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก นางจุทา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (สสปน.) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก ร่วมให้การต้อนรับ สำหรับการจัดงานครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้ สินค้าและบริการด้านไมซ์ในพื้นที่ภูมิภาค (Domestic MICE Far Trip) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2564 ณ จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ รวมถึงสถานที่ของการจัดกิจกรรมไมซ์ในจังหวัดพิษณุโลกต่อสื่อ สมาคม บริษัทผู้จัดงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดในการรองรับ อีกทั้งเพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดงานไมซ์ในประเทศของจังหวัดพิษณุโลกให้มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยท่านสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากแขกที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับงานไมซ์ในระดับนานาชาติให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดในการเป็นเมืองไมซ์ซิตี้และสร้างพลังและคุณค่าของานไมซ์ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นผ่านการทำเส้นทางและกิจกรรมคู่กับจังหวัดข้างเคียง นอกจากนี้ในปี 2564 สสปน. ได้มีการดำเนินโครงการสนับสนุนไมซ์ชิตี้และเมืองที่มีศักยภาพในการทำการตลาดเมืองโดยใช้ยุทธศาสตร์กำหนดจุดขายเมืองจาก City DNA ของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอให้กับทุกท่านได้ทราบว่าหากต้องการทำการตลาดไมซ์สำหรับพิษณุโลกแล้วกลยุทธ์แบบไหนที่เหมาะสมในการขายและกลุ่มเป้าหมายไหนที่เป็นตลาดที่เราต้องการ ซึ่งก็ถือได้ว่าวันนี้เป็นวันสรุปผลและเปิดตัว Tagline การขายเมืองไมซ์ซิตี้ของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ทุกท่านสามารถนำไปใช้ในการสื่อสารและทำการตลาดได้ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและผลักดันให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการจัดกิจกรรมไมซ์ในอนาคต.
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเครื่องจักรกล กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนชำรุดสายหมู่ที่ 9 บ้านเขาปรัง ตำบลดงประคำ อำเภอพรหมพิราม ความยาว650 เมตร กว้าง 6 เมตร ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่สัญจรไปมา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขุดรื้อผิวจราจรลาดยางเก่าออกพร้อมทั้งมิกซ์บดอัดให้แน่นจากนั้นจะดำเนินการเทหินคลุกผสมยางพร้อมบดอัดให้แน่นอีกครั้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ประชาชนได้ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านและขนส่งพืชผลทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวกและปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นต่อไป.
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 06.00 น. ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายอาวุธ ยวนแห่ว สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอนครไทย ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าร่วมพิธีบวงสรวง “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” (พ่อขุนบางกลางท่าว) เนื่องในงานประเพณีปักธงชัย ประจำปี 2564 ณ อุทยานพระปฐมราชานุสรณ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ วัดกลาง ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ พ่อค้าและประชาชนในอำเภอนครไทย เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก จากนั้นประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ประธานวางพานพุ่มถวายราชสักการะ ต่อจากนั้นประธานในพิธีโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย พระราชครูอ่านประกาศราชสดุดี พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นร่วมพิธีถวายพานพุ่มดอกไม้สักการะพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางท่าว) ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เนินหนองปู่) ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย โดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มอบหมายให้ นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอนครไทย เป็นประธานในพิธีนำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนร่วมถวายพานพุ่มดอกไม้และพวงมาลัยสักการะเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และร่วมถวายเครื่องบวงสรวงสังเวย ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ “พ่อขุนบางกลางท่าว” จากนั้นประธานในพิธีลั่นฆ้องเปิดงานบวงสรวงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อย่างเป็นทางการ ภายในพิธีมีการรำถวายพ่อขุนบางกลางท่าว โดยนักเรียนจากโรงเรียนนครไทย สำหรับประเพณีปักธงชัย เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการทอธงขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร จำนวน 3 ผืน ที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่ยอดเขา 3 ยอด ประกอบด้วย เขาฉันเพล เขาย่านไฮ และเขาช้างล้วง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12 หรือตรงกับ “วันลอยกระทง” ของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวนครไทยสืบสานมาตั้งแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน โดยในปี 2564 ทางอำเภอนครไทยร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ มูลนิธิพ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อค้าประชาชนชาวนครไทย ได้กำหนดจัดงานประเพณีปักธงชัย ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 จากนั้นจะนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่บริเวณยอดเขาช้างล้วง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากที่ว่าการอำเภอนครไทย ประมาณ 6 กิโลเมตร โดยชาวอำเภอนครไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการนำธงชัยไปปักจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของพ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งหลังจากได้ยกทัพต่อสู้กับขอมเพื่อกู้แผ่นดิน เมื่อ พ.ศ.1871 ก่อนทำศึกได้ทรงปลูกต้นจำปาเสี่ยงทายไว้ หากมีชัยชนะขอให้เจริญเติบโต มีดอกเป็นสีขาวนวลและก็ประสบชัยชนะเป็นไปตามนิมิตรมงคล ต้นจำปาขาวจึงปรากฏอยู่ที่นี่แห่งเดียวในประเทศ และพระองค์ยังได้นำเอาผ้าคาดเอวผูกปลายไม้แล้วปักไว้ที่ยอดเขาช้างล้วงแห่งนี้ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและยังเปรียบได้ว่าได้เริ่มก่อตั้งอาณาจักรสยามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาและผ้าคาดเอวผืนนั้นก็กลายเป็นธงชาติไทยผืนแรก.

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ลงพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลือชาวนาที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังนาข้าวในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมกับ นายเชิด กลมพุก กำนันตำบลท่าโพธิ์ นายลัทธิ ก้อนคง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลท่าโพธิ์ และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวนาในพื้นที่หลังเกิดน้ำท่วมขังนาข้าวหอมมะลิจำนวนหลายร้อยไร่ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ประสานกับ นายอดุลย์ จุมพิศ ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 3 มอบหมายให้ฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ (นครสวรรค์) และฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ดำเนินการขนย้ายพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง และขนาด 8 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง มาติดตั้งเพื่อสูบน้ำบริเวณคลองลูกนก พื้นที่หมู่ 5 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับมวลน้ำจากพื้นที่ตำบลบ้านคลอง, ตำบลบ้านกร่าง, บึงแก่งใหญ่, มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม, และตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก เพื่อเร่งช่วยผันน้ำลงสู่คลองคู ( DR1-4L) ก่อนระบายไปยังคลอง DR15.8 เพื่อให้มวลน้ำทั้งหมดไหลลงไปยังคลองราชินีในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์และตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยพบว่าขณะนี้ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ มีนาข้าวหอมมะลินาปีของเกษตรกรที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รับผลกระทบกว่า 300 ไร่ และหลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำมีระดับน้ำลดลงไปประมาณ 1 ฟุต ซึ่งภายในสัปดาห์หน้านี้หากระดับน้ำลดลงจำนวนมากจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วของตำบลท่าโพธิ์ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่านจากด้านเหนือของอำเภอเมืองพิษณุโลกและอำเภอบางระกำ เพื่อระบายลงสู่คลอง DR15.8 ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือชาวนาของทั้งสองอำเภอให้สามารถได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายเพื่อจะได้มีทุนทำนาข้าวในครั้งต่อไป ท่ามกลางความพึงพอใจของผู้นำท้องที่และชาวนาในพื้นที่เป็นอย่างมาก.

หน้า 72 จาก 305