มาโนช บุญยัง
วันที่ 24 เมษายน 2563 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายกังวล นาคท่าโพธิ์ กำนันตำบลบึงพระ และนายมนต์ แสนราชโสภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลบึงพระ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านสะพาน 4 ตำบลบึงพระ อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกผักมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเกษตรกรปลูกผักประมาณ 100 หลังคาเรือน เพาะปลูกผักต่างๆ ได้แก่ ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี พริก และผักอื่นๆ เพื่อดูผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) โดยพบว่ากลไกการตลาดมีความต้องการบริโภคผักต่างๆ ลดลงอย่างมากทำให้ราคาผักตกต่ำกว่าปกติมาก อาทิ คะน้า ราคาส่งกิโลกรัมละ 16 บาท ราคาขาย 20 ,ผักบุ้ง ราคาส่งกิโลกรัมละ 15 บาท ราคาขาย 20 บาท ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และคาดว่าหลังปัญหาไวรัส COVID 19 หมดลงราคาพืชผักจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น จากนั้นตรวจสอบบริเวณคลองสะพาน 4 ซึ่งเป็นคลองน้ำสาธารณะมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และกว้าง 40 เมตร ที่เกษตรกรใช้น้ำเพาะปลูกพืชผักต่างๆ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากคลองน้ำตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้นปกคลุมจำนวนมาก โดยเกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ต่างมีความต้องการให้ขุดลอกวัชพืชภายในคลองสะพาน 4 เพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูกพืชผักต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยแนะนำให้ผู้ใหญ่บ้านนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบึงพระให้รับทราบปัญหา เพื่อจะได้ร้องขอมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกให้จัดส่งเครื่องจักรกลเข้าดำเนินการขุดลอกและกำจัดวัชพืชภายในคลองดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตรของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต่อไป.
วันที่ 22 เมษายน 2563 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยนายสมาน นวนเกิด กำนันตำบลไผ่ขอดอน และเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขุดลอกคลองแห้งวังหวาย หมู่ที่ 6 บ้านไผ่ขอดอน ตำบลไผ่ขอดอน อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการขุดลอกคลองดังกล่าวที่ตื้นเขินให้มีความกว้างและลึกเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยมีความยาว 1,020 เมตร และความกว้าง 28 เมตร พร้อมทั้งปรับพื้นที่บริเวณคันคลองเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจรไปไร่–นา ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และใช้ขนส่งพืชผลทางการเกษตรไปจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80% โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 5,000 ไร่.