มาโนช บุญยัง

มาโนช บุญยัง

วันที่ 22 เมษายน 2563 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบร่างโครงการแก้มลิงบึงราชนก ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยมี นายนัทธี นุ่มมาก หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม และนายเจษฎา งามธุระ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 และ นายธีรพงษ์ บุญศัพย์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 3 เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งร่วมบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบโครงการแก้มลิงบึงราชนกฉบับร่างเพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานเกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพิษณุโลก คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคเหนือ) ทั้งนี้กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบึงราชนกและได้วางแผนดำเนินการตามหลักการฟื้นฟูบึงราชนก ซึ่งขณะนี้ส่วนวิศวกรรม สำนักชลประทานที่ 3 ได้ออกแบบโครงการแก้มลิงบึงราชนกฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำไปปรับแก้รูปแบบของโครงการแก้มลิงบึงราชนกให้สำเร็จตามแผนดำเนินงานที่กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบึงราชนกต่อไป

วันที่ 21 เมษายน 2563 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายเชาวลิต บุญก่อ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอบางระกำ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการขุดลอกคลองแพงพวย (หลังวัดคลองลึก) ตามโครงการขุดลอกคูคลอง หนองบึง สระน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ ภายในเขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ หมู่ที่ 5 บ้านวัดแตน ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ร่วมกับ นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอบางระกำ และนายฉลาด ยังเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการขุดลอกคลองดังกล่าวซึ่งเป็นคลองน้ำสาธารณะ มีความยาว 1,300 เมตร กว้าง 24 เมตร และลึก 4 เมตร รับปริมาณน้ำจากจังหวัดกำแพงเพชรไหลมาทางคลองท่อทองแดง ผ่านตำบลหนองกุลา ตำบลนิคมพัฒนา และไหลผ่านมายังตำบลชุมแสงสงครามก่อนลงสู่แม่น้ำยม หากดำเนินการขุดลอกคลองดังกล่าวสำเร็จจะสามารถใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน รวมถึงใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรให้แก่ราษฎรทั้ง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 5, 6, 7, 10 ของตำบลชุมแสงสงคราม มีพื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1,800 คน โดยในการขุดลอกดังกล่าวนี้สร้างความพึงพอใจให้กับราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง.

วันที่ 20 เมษายน 2563 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายบุญเหลือ บารมี นายอำเภอวังทอง และนายชมภู จันทร์เชื้อ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำรถบรรทุกน้ำจำนวน 3 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ออกแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่หมู่ 9 บ้านซำตะเคียน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง เนื่องจากแหล่งน้ำที่มีตามธรรมชาติกำลังแห้งขอดทำให้ไม่มีน้ำมาผลิตน้ำประปาใช้ภายในหมู่บ้าน ส่งผลให้ราษฎรกว่า 280 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 1,300 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมาเป็นเวลานับเดือนแล้ว จนต้องแบ่งเวลาในการปล่อยน้ำประปาเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำน้ำอุปโภคบริโภคใส่ถังน้ำของราษฎรที่เตรียมไว้รอรับน้ำจากเจ้าหน้าที่เพื่อเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นท่ามกลางความพึงพอใจของผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่อย่างมาก จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำซำตะเคียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านและถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงแห่งเดียวที่ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ โดยกรมชลประทานได้ขุดอ่างเก็บน้ำดังกล่าวขึ้นเมื่อปี 2524 เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้อุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้าน พบว่ากำลังแห้งขอดเนื่องจากฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานานทำให้น้ำลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วและตื้นเขิน ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดังกล่าวให้มีความลึกเพื่อจะได้ใช้กักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของราษฎรต่อไป.

วันที่ 17 เมษายน 2563 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายชมภู จันทร์เชื้อ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และ นางเฉลียว อ็อดเอก กำนันตำบลบ้านป่า ลงพื้นที่หาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก หลังพบว่าปั๊มซับเมอร์สสูบน้ำของประปาหมู่บ้านเกิดชำรุดและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซมส่งผลให้ราษฎรที่ใช้น้ำประปาหมู่บ้านดังกล่าวจำนวน 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ที่ 6 จำนวน 20 หลังคาเรือน และหมู่ 7 จำนวน 126 หลังคาเรือน ต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เบื้องต้นได้เสนอให้ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นจัดทำประชาคมและเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านป่า เพื่อทำหนังสือร้องขอขุดเจาะบ่อบาดาลมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำเข้าแผนฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนต่อไป จากการสอบถาม นางเฉลียว อ็อดเอก กำนันตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ประปาหมู่บ้านดังกล่าวก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมีประชาชนสองหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์จากประปาหมู่บ้านดังกล่าวเพื่ออุปโภคบริโภค จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ปั๊มซับเมอร์สสูบน้ำ ขนาดหน้า 3 นิ้ว เกิดขาดและหล่นไปยังก้นบ่อบาดาลทำให้ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ จนต้องหาปั๊มซับเมอร์สสูบน้ำขนาด 1.5 นิ้ว มาใช้สูบน้ำสำรองไว้เพื่อให้ประชาชนทั้งสองหมู่บ้านได้ใช้อุปโภคบริโภค โดยได้แบ่งช่วงเวลาในการปล่อยน้ำเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงทั้งสองหมู่บ้าน และเมื่อสูบน้ำได้เพียง 40 นาที น้ำก็หมดบ่อเนื่องจากปั๊มซับเมอร์สมีขนาดเล็กส่งผลให้ประปาชนมีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กระทั่งเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้นำรถบรรทุกน้ำมาบรรจุใส่แทงค์น้ำประจำหมู่บ้าน พร้อมทั้งแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนในหมู่บ้านเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ประชาชน.

หน้า 194 จาก 305