มาโนช บุญยัง
วันที่ 22 มกราคม 2565 ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ร่วมพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง และมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธีเปิดศูนย์ฯ พร้อมทั้งมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และเจิมอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ทั้งนี้สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสืบสานศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานในการช่วยเหลือประชาชน โดยรับผิดชอบดูแลช่วยเหลือผู้ขอรับบริการน้ำฝนจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก มีภารกิจช่วยเติมน้ำต้นทุนเข้าเขื่อนกักเก็บน้ำ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 25 แห่ง เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง บรรเทาภัยพิบัติด้วยการปฏิบัติการหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย เป็นการตอบสนองประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันเวลารวมทั้งสนับสนุนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นมีเพียงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว รับผิดชอบในพื้นที่ถึง 15 จังหวัด ทำให้ขาดความคล่องตัวไม่สามารถทันเวลาเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติพร้อมกันหลายจังหวัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่ง จากผลการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 ตุลาคม 2564 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีการขึ้นบินปฏิบัติการฯ รวม 153 วัน 417 เที่ยวบิน ทำให้มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง คิดเป็นร้อยละ 95.4 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 28 ล้านไร่ รวมถึงทำให้มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 27 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 11.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ มีการขึ้นบินปฏิบัติการฯ รวม 25 วัน (ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม - 21 พฤษภาคม 2564) 27 เที่ยวบิน ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด.